27 กุมภาพันธ์, 2556

ปรัชญาของการเป็นโค้ชกีฬา


บทที่ 1 บทนำ
ปรัชญาของการเป็นโค้ชกีฬา


                “เมื่อคุณจะเดินทางไปเกาะไหนสักแห่ง คุณต้องรู้แล้วว่าจะเตรียมอะไรไปบ้าง” เพื่อใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นอย่างไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุด เช่นกันกับโค้ช (Coach) ที่ต้องทราบว่าสิ่งไหนบ้างที่ยังขาดสำหรับนักกีฬาของตนเองที่จะต้องเตรียมพร้อมก่อนไปแข่งขัน ดังนั้น ในสถานการณ์การแข่งขันจริงไม่มีใครบอกได้ว่าโค้ชควรเลือกอะไรเป็นหลัก  ระหว่างวิธีการสอนกับวัตถุประสงค์ในการทำงานโค้ช  โดยเฉพาะในขณะที่ทีมต้องการชัยชนะด้วยแล้ว หากวิธีการเตรียมพร้อมของโค้ชสมบูรณ์ สิ่งที่ได้รับคงไม่พ้นกับคำว่า ”ชัยชนะ”

                กลับมาถามตัวเองอีกครั้ง  และตอบด้วยความซื่อสัตย์ว่า   วัตถุประสงค์ในการทำงานโค้ชของท่าน  คืออะไร ?

                โดยทั่วไปแล้วภาพรวมของค่านิยมในสังคมมักยกย่อง  ชัยชนะ  (ความสำเร็จ)  มากกว่าผลอย่างอื่น  ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีโค้ชท่านไหนหรอกที่ไม่อยากชนะ แต่การชนะที่สมบูรณ์ควรอยู่ในเป้าหมายสูงสุดด้วย คือ เป้าหมายของความพยายามของนักกีฬาที่จะเอาชนะ ความพยายามทุ่มเทในการฝึกซ้อมและแข่งขันหรือความพยายามสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีให้กับตัวเอง ซึ่งแน่หากท่านเดินทางไปแข่งขันกีฬากลับมา  คำถามที่จะได้รับเป็นประโยคแรก  น่าจะเป็น  ชนะหรือเปล่า  เคยมีใครถามบ้างไหมว่า  การเล่นเป็นอย่างไร  ฉันใดก็ฉันนั้นหากท่านจากบ้านไปศึกษาต่อ  เมื่อกลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง  ก็มักมีคนถามว่า  เป็นไง  จบหรือยัง  แต่ไม่เคยมีใครถามว่า  การเรียนเป็นอย่างไรบ้าง  นั่นแสดงให้เห็นว่า  คนเรายกย่อง  ชัยชนะและความสำเร็จ  เป็นประการสำคัญ !

                มีคำกล่าวที่ว่านักกีฬาสร้างโค้ช กล่าวคือ คนที่มาเป็นโค้ชอาจจะโชคดีที่มีนักกีฬาที่มีความสามารถสูงอยู่ในทีม ทำให้ทีมประสบผลสำเร็จสูงสุด แต่ก็มีโค้ชหลายคนต่างเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมปาก  เพราะวัตถุประสงค์ในการทำงานโค้ชแตกต่างจากสิ่งที่โค้ชกำลังทำโดยสิ้นเชิง  ทั้งนี้  เนื่องจากแนวทางในการทำงานตามวัตถุประสงค์  ก็เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาการให้กับผู้เล่น  แต่ค่านิยมของสังคมที่นั่นกลับต้องการบูชาผู้ชนะ  และยิ่งสังคมที่คลั่งไคล้กีฬาด้วยแล้ว  ต่างมองกีฬาว่าเป็นสื่อในการทดสอบความสามารถของคนหนุ่มสาว  ผู้ชนะคือคนเก่ง คนมีทักษะชีวิต  ซึ่งคนคนนี้แหละคือ  ผู้นำของสังคม  โค้ชก็เช่นกันต้องตกกระไดพลอยโจน  ถูกประเมินค่าความสามารถ  ความนิยมยกย่อง  ความน่านับถือ  ด้วยผลแพ้-ชนะ  เหนือความสามารถที่แท้จริง  หรือเหนือความมุ่งมั่นในการทำงานของเขา  ในที่สุดโค้ชบางคนและหลายคนต่างก็จะละทิ้งอุดมการณ์  หันไปตามกระแสแห่งค่านิยมของสังคม  นั่นคือ  ให้ความสำคัญไปที่วัตถุประสงค์เพื่อชัยชนะมากกว่า คุณค่าที่แท้จริงของการกีฬาทั้งนี้  เพราะการทำงานของโค้ชต้องอยู่ภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหาร  เจ้าของทีม  ผู้มีอุปการะ  นักการเมือง  ผู้มีอิทธิพล  ฯลฯ  แม้กระทั่งคนรอบข้างของโค้ชเอง  หากท่านคือโค้ชคนนี้ล่ะ  ท่านจะทำอย่างไร ?
                จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผู้เขียนที่ได้สัมผัสกับคำว่าโค้ช คำว่าโค้ชที่สมบูรณ์เป็นอย่างไรก็ต้องอาศัยการศึกษาควบคู่กับประสบการณ์เพื่อนำมาประยุกต์เข้ากับกีฬาที่สนใจ สิ่งที่ต้องเตรียมคือ พื้นฐานที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ชนิดกีฬานั้นให้ลึกซึ้ง เข้าใจธรรมชาติของกีฬา รู้หลักการฝึกซ้อมที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การฝึกกีฬา ผสมผสานกับนำหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาฝึกเพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางกายและทางจิตใจ เข้าใจธรรมชาติของสังคม และวัย แน่นอนครับนี่คือ โค้ช อยากจะบอกว่าคนที่จะเป็นโค้ช คุณต้องยอมรับภาระงานที่หนัก หรืออาจจะหนักกว่างานประจำที่ทำเสียอีกครับ แต่มีโค้ชบางท่าน ทุกสิ่งที่กล่าวมาไม่ได้นำมาเกี่ยวข้องกับนักกีฬาของตนเองแม้แต่น้อย

ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลง..........(อย่างไร)
                ปัญหาหรือประเด็นดังกล่าวข้างต้น  เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของโค้ชหรือคน  (กีฬา)  รุ่นใหม่ที่ต้องทำการปฏิรูปแนวคิด  หรือปรัชญาของโค้ชให้สอดคล้องกับคุณค่าที่แท้จริงของการกีฬา  โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงสู่โลกแห่งข่าวสารข้อมูล  เป็นโอกาสดีที่สุดของโค้ชที่จะสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ให้บุคคลทุกคนเข้าใจในวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการทำงานโค้ช  ทั้งนี้  เพราะปัจจุบันองค์กรกีฬาระหว่างประเทศทั่วโลก  คณะกรรมการกีฬาโอลิมปิคสากล  โค้ชผู้มีประสบการณ์และได้รับความสำเร็จทั้งหลาย  นักพลศึกษา  นักจิตวิทยาการกีฬา  นักวิทยาศาสตร์การกีฬา  แม้กระทั่งแพทย์  ต่างให้การยอมรับโดยดุษฎีต่อวัตถุประสงค์ของการทำงานโค้ช  เพื่อ  นักกีฬา  เป็นอันดับแรก  ชัยชนะ  เป็นอันดับรอง  (Athletes  First : Winning  Second)  ซึ่งในสังคมกีฬาเริ่มเริ่มรู้และเข้าใจกีฬาถึงแก่นแท้ของกีฬาและเข้าใจถึงปรัชญาโค้ชไปในตัวด้วย

                หากโค้ชที่ผ่านการฝึกอบรมด้วยเนื้อหาเดี่ยวกัน ร้อยละ 80 น่าจะมีวัตถุประสงค์ของการทำงานที่คล้ายๆ กัน ซึ่งโค้ชต้องยึดถือเป็นปรัชญาประจำใจตนนั้น  หากอ่านแล้วให้ความหมายธรรมดาเข้าใจง่าย  แต่บอกได้เลยว่ายากยิ่งต่อการนำไปปฏิบัติ  ดังเหตุผลที่เคยกล่าวอ้างมาก่อนแล้ว  และขอเพิ่มเติมเพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า  ปัจจุบันในกีฬาระดับสูงที่นิยมเล่นกัน เช่น ฟุตบอล เป็นต้น ธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกีฬาอย่างไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง  โดยเฉพาะในความรู้สึกของผู้บริหารทีม  ทั้งนี้  เมื่อใดที่ทีมได้ชัยชนะ  การขยายตัวด้านธุรกิจของพวกเขาก็จะมีมากมายเพิ่มขึ้น  เงินทองไหลมาเทมา  อำนาจและการยอมรับจากสังคมรอบด้าน  เป็นผลพลอยได้ที่มีค่า  คุ้มกับการลงทุน  เพราะชื่อเสียง  เกียรติยศ  ที่พวกเขาได้มาจากชัยชนะ  สามารถนำไปใช้แทนใบเบิกทางเพื่อเปิดประตูไปสู่ความสำเร็จด้านอื่นๆ ได้อีกมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่  ขอยกตัวอย่าง สำหรับผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของกีฬา
ปัจจุบันธุรกิจทางการศึกษาก็เช่นกัน แต่ละสถาบันต้องมีวิธีการสรรหา หรือกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้ได้กลุ่มนักเรียนที่ตรงตามเป้าหมายเข้าไปศึกษา สมัยก่อนเน้นที่คนที่เรียนเก่ง ต้องสอบคัดเลือกเข้าไป กว่าจะได้เรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง ต้องผ่านกระบวนการคัดสรรมากมาย ปัจจุบันความสำคัญลดน้อยลง สถาบันใดให้การสนับสนุนด้านกีฬา แน่นอนมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว หากผู้บริหารมองเห็นจุดนี้นะครับ ท่านจะเกิดอะไรขึ้นมาในสมองแน่นอน อย่างแรกคือ กีฬากับมนุษย์แยกกันได้ยาก กิจกรรมทางกาย มนุษย์เราต้องการเล่นไปตลอดชีวิตควบคู่กับการศึกษา เช่นกัน สถาบันที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องมองยาวไกล ไม่เกิน 5 ปี ผลกำไรจะตามมาแน่นอน ขอให้เอาจริงเอาจัง เช่นเดียวกับการเมือง  การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ในสังคม เช่น จังหวัดชลบุรี นักการเมืองสนใจกีฬาฟุตบอล ท่านก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แน่นอนพลังศรัทธาของประชาชนที่ชอบกีฬาจะรักและศรัทธาท่าน นี่แหละคือผลกำไร กับอีกกรณีอดีตนายกฯ ปัจจุบันเป็นประธานสโมสรในระดับพรีเมียร์ลีก ท่านก็ยังเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ดีบ้าง ไม่ดีบ้างแต่อย่าลืมว่า ประโยชน์ที่ได้รับ จริง ๆคือ เยาวชนที่ได้ไปดู ได้ติดตาม ได้ศึกษา พร้อมที่จะนำมาพัฒนาในวงการกีฬาบ้านเรา กำไรที่มองไม่เห็น  เป็นต้น แต่ก็มีบางท่าน ที่กล่าวมานี้หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วก็ไม่มีข้อยกเว้น  ไม่ว่าจะเป็นในวงการใด  กีฬาอาชีพหรือสมัครเล่น  ใครๆ ก็อยากชนะกันทั้งนั้น  น่าสงสารการกีฬาซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าความดีความงาม  กลับถูกผู้แสวงหาผลประโยชน์  นำคุณค่าเหล่านั้นไปใช้อย่างขาดคุณธรรม  แต่ทำอย่างไรได้ในเมื่อการกระทำของพวกเขามัน  ถูกกฎหมาย

                กล่าวถึงโค้ชที่มีความสามารถหลายคน  ปลุกปั้นและสร้างความเป็นคนให้กับลูกทีมของเขามามากมาย  นักกีฬาจำนวนมากที่โค้ชขัดเกลาจนกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคม  แต่ทีมของโค้ชไม่เคยก้าวไปถึงดวงดาว  โค้ชหลายต่อหลายคนถูกไล่ออก  ถูกเมิน  ไม่พิจารณาความดีความชอบให้  นี่คือสัจธรรมที่เกิดกับการกีฬาทุกวันนี้  เพราะฉะนั้น  ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง  เพื่อให้นักกีฬาของโค้ชเป็นผู้ชนะที่แท้จริง  กล่าวคือ  มิใช่เป็นผู้ชนะเฉพาะในเกมเท่านั้น  แต่คุณค่าที่ยิ่งยวดคือ  การเป็นผู้ชนะในชีวิตของความเป็นมนุษย์  นั่นเอง

ต้องการชัยชนะกับความพยายามที่จะเอาชนะแตกต่างกันอย่างไร

                นักกีฬาเป็นหลัก  ชัยชนะเป็นรอง  อาจจะพอทราบกันบ้างแล้วว่าเป็นอย่างไร แต่ทุกวันนี้โค้ชต้องมีผลงาน ต้องทำงานในสภาวะกดดัน จาก ผู้บริหาร จากครอบครัว จากนักกีฬาเอง สิ่งเหล่านี้โค้ชจึงลืมปรัชญานี้ วัตถุประสงค์หรือปรัชญานี้ใช่ว่าจะไม่ให้ความสำคัญกับ  ชัยชนะ  เพราะไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันอะไร  จุดหมายสูงสุดต้องเป็น  ชัยชนะ  ทั้งสิ้น  ชัยชนะตามกฎ  กติกา  มารยาท  จึงควรเป็นวัตถุประสงค์ของทั้งโค้ชและนักกีฬาทุกคน  การแข่งขันกีฬาโดยไม่คิดที่จะพยายามเอาชนะ  ถือเป็นการดูถูกและเสื่อมเสียเกียรติภูมิของตนเองเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้น  ความพยายามที่จะเอาชนะจึงถือเป็นอุดมคติของการกีฬาที่แท้จริง  ซึ่งหากวิเคราะห์แยกแยะความลึกซึ้งในความหมายแล้ว  จะต่างกับคำว่า  ต้องชนะ  โดยแท้จริง  โค้ชผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งแห่งแวดวงฟุตบอลบ้านเรา อาจารย์ชาญวิทย์ ผลชีวิน กล่าวไว้ว่า “โค้ชไม่ใช่ผู้บันดาลชัยชนะ” เช่นเดียวกับ  Vince  Lombardi แห่งวงการอเมริกันฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ว่า  ชัยชนะมิใช่เป็นตัวแทนของทุกสิ่งทุกอย่าง  ชัยชนะเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น  และชัยชนะก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ  สิ่งสำคัญก็คือ  ความพยายามที่จะชนะ  คำกล่าวนี้สะท้อนปรัชญาโค้ชของเขาได้เป็นอย่างดี โค้ชและนักกีฬาอาชีพส่วนมากให้ความนับถือข้อความข้างต้นกันจนเผยแพร่กันไปทั่วโลก  ทั้งนี้  เพราะความลึกซึ้งแห่งความหมายนั้น  กระตุ้นให้ผู้ที่ยอมรับ  กระหายที่จะเล่นเพื่อชัยชนะมากยิ่งขึ้น  คำว่า  ความพยายาม  ทำให้โค้ชและนักกีฬามองภาพของจุดหมาย  คือ  ชัยชนะ  ย้อนหลังกลับไปเด่นชัดยิ่งขึ้นถึงกระบวนการก่อนที่จะบรรลุจุดหมาย  (การรวมทีม  การฝึกซ้อม  ความมุ่งมั่น  ความยุ่งยาก  การขัดแย้ง  ความเข้าใจ  ความสามัคคี  ความล้มเหลว  ความสำเร็จ  การพลัดพราก  ฯลฯ)  การรำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่ผ่านมา  ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจกับอดีตที่เคยชอกช้ำและชื่นชม  ซึ่งจะปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้เกิดความสุขที่ได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นนั่นคือ  ความสุขกับการที่ได้เล่น  (กีฬา)  นักกีฬาเด่นๆ หลายคนเปิดเผยอย่างจริงใจว่า  บรรยากาศที่น่าจดจำในฐานะผู้เล่นมิใช่เป็นตอนที่ขึ้นไปรับรางวัลในฐานะผู้ชนะ  แต่เป็นตอนที่ผ่านมาของช่วงเวลาในการเตรียมตัว  ความบากบั่นในการฝึกซ้อม  และการได้เรียนรู้ร่วมกันมากกว่า  นึกถึงคราใดมันมีความสุขจริงๆเช่นเดียวกับการเป็นโค้ชก็จะมีความสุขที่เห็นนักกีฬามีความทุ่มเทในการแข่งขันเช่นในครั้งที่ต้องชิงชนะเลิศ เมื่อนักกีฬาของตนเองพ่ายแพ้ นักกีฬาแสดงออกถึงความพยายามคือการเสียใจ การล้มลงนอนกับพื้นสนาม การกล่าวคำว่าขอโทษกับโค้ช นี่แหละคือ คำว่า ชัยชนะที่แท้จริง

                ในยุคปัจจุบันของโลกไร้พรมแดน  ทุกคนตื่นเต้นกับความทันสมัยของระบบสื่อสาร  โลกฝั่งหนึ่งทำอะไร  โลกฝั่งตรงข้ามจะได้รับรู้  รับเห็นพร้อมกัน  แต่หากสังเกตให้ละเอียดยิ่งขึ้นการสื่อสารที่ทุกคนได้สัมผัสขณะนี้  เป็นการสื่อสารด้วยวัตถุซึ่งสามารถดลบันดาลการรับรู้ได้ทันทีทันใด  กล่าวเปรียบเทียบได้เหมือนดั่งว่า  โลกของเราถูกย่อลง  ทำให้ทุกประเทศร่นเข้ามาใกล้ชิดกัน  แต่ในทางตรงกันข้ามขณะที่ทุกคนมุ่งสนใจไปยังการสื่อสารด้วยวัตถุ  การสื่อสารด้วยจิตใจ  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตมนุษย์กลับถูกละเลย  สังคมใหญ่ถูกดึงรั้งเข้ามาใกล้  แต่สังคมย่อยกลับถูกแยกห่างกันออกไป  เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ขาดสายใยชีวิตที่จะสานเชื่อมความรู้สึกกับบิดามารดาหรือญาติพี่น้อง  เพราะฉะนั้น  ข่าวคราวนักเรียนนักศึกษาฆ่าตัวตาย  กระโดดตึกตาย  อาชญากรรม  เสพยาเสพติด  มั่วสุมทางเพศ  ฯลฯ  เหล่านี้จึงปรากฏให้เห็นกันเนืองๆ ทั้งนี้  เพราะอะไร?  เหตุผลประกอบคำตอบสั้นๆ ก็คือ  หากทั้งสองฝ่ายมีสายใยชีวิตซึ่งผูกพันกันเป็นเครือข่ายเข้มแข็ง  เด็กหรือเยาวชนเหล่านั้นคงไม่ด่วนตัดสินใจคิดสั้นหรือประพฤติผิดโดยไม่ไตร่ตรองอะไรทั้งสิ้น  สายใยชีวิตในที่นี้คือ  ความรู้สึกผูกพันห่วงใยและนึกถึงทุกครั้งที่มีปัญหา สิ่งสำคัญพื้นฐานที่ดีที่สุดคือ สถาบันครอบครัว

                จากอุทธาหรณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า  เด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันนี้จำเป็นต้องมีจุดยืนที่เด่นชัดบนวิถีชีวิตของพวกเขา  มีกิจกรมอะไรบ้างที่จะช่วยให้เขาหลีกเลี่ยงและถอยห่างออกจากสิ่งเลวร้ายที่อาจเล็ดลอดเข้ามาในวงจรชีวิตของพวกเขาได้ตลอดเวลา  เพราฉะนั้นพวกเขาต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวที่พวกเขาเต็มใจที่จะเกาะติดมันไว้  และไม่คิดละเลยจากมันไป  และสิ่งยึดเหนี่ยวที่ว่านี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะปกป้องคุ้มภัยให้เขาได้ตลอดเวลา  ซึ่งขณะนี้เกือบทุกประเทศในโลกต่างก็ค้นพบกิจกรรมนั้นแล้ว  กีฬา  นั่นเอง  กีฬามีเสน่ห์ตรงที่มีจุดหมายซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุด  จุดหมายของกีฬาชนิดต่างๆ ท้าทายให้ทุกคนกระหายที่จะเอาชนะ  เมื่อมาถึงจุดนี้ก็คงเหลือแต่เพียงว่า  การจะเอาชนะนั้นด้วยวิธีใด  โค้ช  ครูพลศึกษา  พ่อแม่  ผู้บริหาร  ผู้หลักผู้ใหญ่  ผู้เกี่ยวข้อง  ฯลฯ  ควรปลูกฝังให้พวกเขาเอาชนะในเชิงกีฬาด้วย  ความพยายาม  ก่อนที่จะเอาชนะด้วย  ความสามารถ  แต่ฝ่ายเดียว  James  Coleman  นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงให้ทรรศนะเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของเขาว่า  ในชีวิตที่ผ่านมาน้อยครั้งมากที่พบว่าผู้ทำอะไรอย่างจริงจังแล้วได้รับความล้มเหลว  ซึ่งความล้มเหลวดังกล่าวมักเกิดจากตัวแปรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ แต่ในแวดวงกีฬาที่เขาคลุกคลีมา  ไม่เคยมีใครที่ไม่ประสบความสำเร็จ  หากมุ่งมั่นมานะพยายามอย่างจริงจัง

คุณธรรมและจริยธรรม

                ถามว่ากีฬาให้ประโยชน์อย่างไร? กีฬาให้คุณค่าต่อผู้เกี่ยวข้องหลายแง่หลายมุม  สิ่งที่สังคมกีฬาวาดหวังไว้มากที่สุดสำหรับเด็กและเยาวชน  ก็คือ  คุณค่าทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม  เพราะเด็กและเยาวชนจะซึบซับเอาคุณค่าดังกล่าวผ่านกิจกรรมกีฬาไปสู่การใช้ชีวิตของเขาในอนาคต  หากเราเป็นแฟนกีฬาฟุตบอล  คงได้เห็นภาพที่แสดงถึงน้ำใจนักกีฬา เห็นว่าเมื่อก่อนนั้นหากมีผู้เล่นบาดเจ็บในสนามจะต้องรอจนกว่าผู้ตัดสินหยุดเกม  ผู้เล่นคนนั้นจึงจะได้รับการปฐมพยาบาล  แต่ไม่นานมานี้  พวกเราได้เห็นนักฟุตบอลอาชีพเตะลูกออกนอกสนามเพื่อให้เกมยุติ  ช่วยผู้เล่นที่บาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดให้ได้รับการดูแลโดยเร็วที่สุด  และเมื่อการพยาบาลเสร็จสิ้นลง  ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามก็จะทุ่มลูกนั้นคืนไปให้ฝ่ายที่เตะลูกออกเป็นการแสดงน้ำใจตอบแทน  ปัจจุบันพฤติกรรมดังกล่าวนี้ยึดถือปฏิบัติกันทั่วโลกโดยเข้าใจตรงกันว่าเป็นเรืองของมารยาท  ทั้งนี้  เพราะไม่มีข้อกำหนดระบุไว้ในกติกาการแข่งขันแต่อย่างใด  การประพฤติปฏิบัติดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม  และการที่นักฟุตบอลทั่วโลกนำไปปฏิบัติ  นั่นแสดงว่า  นักกีฬาคนอื่นๆ ได้ซึมซับพฤติกรรมด้านจริยธรรมเข้าไปในตัวของพวกเขาแล้ว  การเผยแพร่คุณค่าทางด้านนี้จึงเกิดขึ้นจากกิจกรรมกีฬา  ซึ่งก็คาดหวังกันว่าความมีน้ำใจของพวกเขาในสนามกีฬาคงถ่ายทอดติดตามตัวพวกเขาลงไปในสนามชีวิตด้วย  ซึ่งนี่แหละคือส่วนหนึ่งของคุณค่าตามอุดมคติที่แท้จริงของการกีฬา  นักกีฬารุ่นพี่  โค้ช  สื่อมวลชน  และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน  มีบทบาท  มีอิทธิพล  และมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการถ่ายทอดคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ยิ่ง

                ความพยายาม พยายามที่เหมาะสมที่จะเอาชนะก็เช่นกัน  เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับนักกีฬา  และก็เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับความเป็นคน  ทั้งนี้  เพราะความพยายามเป็นคุณธรรมและจริยธรรมเบื้องต้นซึ่งจะนำไปสู่  ความสำเร็จ  ของบุคคลต่อไป  เพราะฉะนั้น  เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้คำว่า  “Athletes  First : Winning  Second”  ก็ยังคงต้องปลูกฝังไว้ในปรัชญาของโค้ชทุกคนและเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน  จึงขอสรุปขยายความวัตถุประสงค์ของการทำงาน  หรือปรัชญาของโค้ชไว้  ณ  ที่นี้ว่า  โค้ชต้องให้ความสำคัญต่อนักกีฬาเป็นอันดับแรก  นั่นคือ  ไม่ว่าโค้ชจะคุมทีมระดับใด  การฝึกฝนนักกีฬาควรมีจุดหมายเพื่อพัฒนาร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  และสังคมของนักกีฬา  และการพัฒนาดังกล่าวควรมีผลพลอยได้คือ  ชัยชนะ  ติดตามมา  เพราะอนาคตของลูกทีมภายหลังจากออกนอกสนามหรือภายหลังจากเลิกเล่นแล้ว  มีความสำคัญต่อความเป็นโค้ช  เหนือกว่าชัยชนะที่พวกเขามอบให้โค้ชขณะอยู่ในสนามเสียอีก  โค้ชที่ดีต้องสร้างนักกีฬาของตนให้มีความสามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างทรหดทั้งในสนามและนอกสนาม  คุณสมบัติดังกล่าวเริ่มต้นด้วยโปรแกรมฝึกซ้อม  พวกเขาควรถูกฝึกฝนให้เคยชินกับอุปสรรคนานัปการจนนำไปใช้ได้ในสถานการณ์แข่งขันอันเร่าร้อนอย่างองอาจและขาวสะอาด  จิตใจของเขาควรถูกฝึกให้เคยชินกับความสมหวังในชัยชนะและความสิ้นหวังจากการพ่ายแพ้  สุดท้ายโค้ชที่ดีควรต้องทำได้  คือ  ทำอย่างไรให้ลูกทีมของตนเล่นและแข่งขันกีฬาด้วยความสนุกสนาน  ถึงแม้จะเป็นการแข่งขันที่มีความหมายหรือต้องการชัยชนะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

                หากเปรียบเทียบโค้ชบ้านเราและต่างประเทศ แตกต่างกันมาก โค้ชบ้านเราทำงานอย่างเสียสละอย่างแท้จริง แต่ยังขาดสิ่งที่เกื้อหนุน ดังนั้นการพัฒนาปรัชญาของโค้ชหรือการเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านต่างๆ เกิดขึ้นได้จากการประมวลประสบการณ์ที่ได้รับสะสมมา  เมื่อเกิดประสบการณ์มากขึ้น  โค้ชจะเข้าใจความเป็นไปต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน  ปรัชญา  วัตถุประสงค์  หรือแนวคิด  ความเชื่อดั้งเดิมจึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นเรื่องธรรมดา  ดังนั้น  ความรู้ที่ได้จากสาระในที่นี้จึงน่าที่จะมีอิทธิพลพอสมควรต่อการกำหนดจุดยืนและบทบาทของบุคคลที่กำลังจะรับหน้าที่โค้ชหรือบุคคลที่ทำหน้าที่โค้ชอยู่แล้ว  ในการควบคุมทีมและสร้างความเป็นคนโดยสมบูรณ์ให้กับลูกทีมของตนได้เป็นอย่างดี  อย่างไรก็ตาม  คำว่า  วัตถุประสงค์  กับ  ปรัชญา  นั้น  มีทั้งความเหมือนและไม่เหมือนกันในความหมาย  สิ่งที่จะชี้ขาดว่าอะไรเป็นวัตถุประสงค์  อะไรเป็นปรัชญา  ก็คือ  พฤติกรรมที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ  ซึ่งสามารถสังเกตได้  และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากจิตสำนึกจริงๆ ของโค้ช  ซึ่งอาจตรวจสอบได้  ด้วยกระบวนการย้อนกลับ จากคนที่เกี่ยวของ ที่ใกล้ตัวที่สุด คือตัวนักกีฬาเอง






เอกสารอ้างอิง

1.        เจษฎา   เจียระนัย. 2550. ปรัชญาและจิตวิทยาการเป็นผู้ฝึกกีฬา. เอกสารประกอบการสอน 
ภาควิชาพลศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
2.  ทูรย์  มีกุดเวียน. 2551. ปรัชญาการฝึกและการโค้ชกีฬา. เอกสารประกอบการสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะสาธารณสุขศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ วิทยาลัยนครราชสีมา.
3.  พิชิต เมืองนาโพธ์. 2546. จิตวิทยาทางการกีฬา. เอกสารประกอบการสอนภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์.
4.  สนธยา สีละมาด. 2549. วิทยาศาสตร์การกีฬาเบื้องต้น. เอกสารประกอบการสอนวิชา วทก103คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์.
5.  สนธยา สีละมาด. 2547. หลักการฝึกกีฬาสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬา.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 460
6.  สมบัติ กาญจนกิจ,สมหญิง จันทรุไทย. 2542จิตวิทยาการกีฬา แนวคิด ทฤษฎี สู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น: